การไต่สวนและคำวินิจฉัย ของ คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549

ผู้พิพากษาคดียุบพรรคการเมือง

ผู้พิพากษาคดียุบพรรคการเมืองมีทั้งหมด 9 คน ซึ่งทั้งหมดมีดังนี้ [1]

  • นายปัญญา ถนอมรอด (ประธานศาลฎีกา เป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ)
  • นายอักขราทร จุฬารัตน (ประธานศาลปกครอง เป็นรองประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ)
  • หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
  • นายสมชาย พงษธา (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
  • นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
  • นายนุรักษ์ มาประณีต (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
  • นายธานิศ เกศวพิทักษ์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
  • นายจรัญ หัตถกรรม (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
  • นายวิชัย ชื่นชมพูนุท (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)

ตุลาการรัฐธรรมนูญได้แบ่งการพิจารณาคดีออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย โดยการไต่สวนพยานนัดแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 และไต่สวนพยานอย่างต่อเนื่องทุกวันอังคาร รวมทั้งสิ้น 14 นัด โดยการไต่สวนพยานพยานนัดสุดท้าย คือ วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้มีการสืบพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องไปทั้งสิ้น 31 ปาก พยานพรรคไทยรักไทย ผู้ถูกร้องที่ 1 จำนวน 19 ปาก พยานพรรคพัฒนาชาติไทยผู้ถูกร้องที่ 2 จำนวน 2 ปาก และพยานพรรคแผ่นดินไทย ผู้ถูกร้องที่ 3 จำนวน 1 ปาก
  • กลุ่มที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยการไต่สวนพยานนัดแรกเริ่มขึ้นเมื่อ 18 มกราคม 2550 และไต่สวนพยานอย่างต่อเนื่องทุกวันพฤหัสบดี รวมทั้งสิ้น 12 นัด โดยการไต่สวนพยานนัดสุดท้าย คือ วันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา

ตามกำหนดการของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญมีกำหนดอ่านคำวินิจฉัยของกลุ่มที่ 2 ก่อน (พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า) ในเวลา 13.30 น. หลังจากนั้นจะอ่านคำวินิจฉัยกลุ่มที่ 1 (พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย) ในเวลา 14.30 น. [8] อย่างไรก็ตาม การอ่านคำวินิจฉัยใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนเกินกำหนดการ ทั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่องและสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย

สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 2

เวลา 13.30-17.45 น. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย กรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีมติยกคำร้องที่ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และมีคำสั่งให้ยุบ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อ กรรมการบริหารพรรค เป็นจำนวน 9 คน มีกำหนด 5 ปี [9][10] สามารถสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ [11]

กรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) และ (3) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า

  1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ยังมีผลบังคับใช้อยู่โดยไม่ได้ถูกยกเลิกตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 3 เหมือนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
  2. นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถส่งเรื่องร้องเรียนคดีนี้ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของ กกต. เพราะเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
  3. การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองส่งเรื่องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างเหตุรวม 8 ประเด็น และอัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคโดยอ้างเหตุเพียง 4 ประเด็นถือว่าอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่จำต้องตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะไม่ใช่กรณีอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
  4. การที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงวันมีคำวินิจฉัยเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น มีผลต่อการดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ไม่มีผลเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนการกระทำของพรรคการเมืองที่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค จึงไม่ทำให้ข้อกล่าวหาที่มีต่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าตามคำร้องของอัยการสูงสุดต้องตกไป
  5. การที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จัดให้มีการปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ส่อแสดงให้เข้าใจได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และบุคคลร่วมรัฐบาลบางคนมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี การนำเรื่องดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นวิสัยของประชาชนทั่วไปย่อมกระทำได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ส่วนการกล่าวปราศรัยหรือชักชวนให้ลงคะแนนในช่อง "ไม่ประสงค์จะลงคะแนน" เป็นสิทธิ์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 326 (4) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 56 จึงไม่เป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคไทยรักไทยผู้สมัครรับเลือกตั้ง และชักจูงให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองใดที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง
  6. ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ รู้เห็นเป็นใจให้นายทักษนัย กี่สุ้น นำนางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังแล้วจัดแถลงข่าวว่าพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ว่าจ้างบุคคลทั้งสามนั้น ฟังได้ว่านายทักษนัย พาผู้สมัครทั้งสามไปสมัครสมาชิกพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยรู้ว่าผู้สมัครทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ครบ 90 วันจริง แต่นายสาทิตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนการกระทำของนายทักษนัย และฟังไม่ได้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จัดแถลงข่าวใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าเป็นผู้ว่าจ้างผู้สมัครทั้งสาม
  7. ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายไทกร พลสุวรรณ ว่าจ้างนายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่าใส่ร้ายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น กรณีฟังไม่ได้ว่านายไทกร ว่าจ้างให้นายวรรธวริทธิ์ใส่ร้ายนายสุวัจน์ แต่เป็นเรื่องที่นายไทกร แสวงหาพยานหลักฐานจากนายวรรธวริทธิ์ เนื่องจากนายไทกรเชื่อว่าพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง
  8. ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของนางสาวปัทมา ชายเกตุ กับพวกที่ จ.สงขลา ฟังได้ว่ามีการขัดขวางจริง แต่กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการขัดขวางดังกล่าว
  9. ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จให้แก่นางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่ครบ 90 วัน นำไปเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ฟังได้ว่า นางสาวอิสรา หรือพรณารินทร์ ยวงประสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองอันเป็นเท็จโดยรู้อยู่ว่าบุคคลทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 90 วันจริง

สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดห้าปี ตั้งแต่วันมีคำสั่งยุบพรรคตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 นั้น เห็นว่าการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มิให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้ ประกาศ คปค. จึงมีผลบังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจึงให้ยกคำร้องในส่วนที่ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) (3) โดยเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อประชาชน ไม่คำนึงถึงความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ จึงให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าและให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 9 คน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2549 มีกำหนด 5 ปี ตั้งแต่วันมีคำสั่งยุบพรรคตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3

สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 1

เวลา 18.15-23.40 น. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย โดยมีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้งสามพรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรค เป็นจำนวน 111 คน, 19 คน, และ 3 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี [12][13] สามารถสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ [14]

นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในห้องพิจารณาคดี

กรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง และพยานหลักฐานทั้งหมด ของคู่กรณีโดยละเอียด ได้มี คำวินิจฉัย ในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายโดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้

  1. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35
  2. การยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง หากปรากฏต่อนายทะเบียน ไม่ว่าจากผู้ใด นายทะเบียนมีอำนาจแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้
  3. การสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่จำต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 19 วรรคสองและวรรคสาม และเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมือง มิใช่การดำเนินการตามคำสั่งของ กกต. จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งระเบียบ กกต. ข้อ 40
  4. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีศักดิ์และสถานะทางกฎหมายเท่ากับพระราชบัญญัติทั่วไป การยกเลิกหรือการทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลบังคับจึงต้องมีกฎหมายยกเลิกหรือมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับแทน เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนจึงยังไม่ระงับสิ้นไป และการกระทำอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังมีความผิดต่อไปด้วย คำชี้แจงของสำนักงานเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครอง เป็นเพียงความเห็นจึงไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับสิ้นผลใช้บังคับ
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 328 ให้อำนาจองค์กรนิติบัญญัติตรากฎหมายที่มีผลเป็นการยกเลิกหรือยุบพรรคการเมืองได้ มิได้มีความหมายเลยไปถึงว่าองค์กรนิติบัญญัติจะตรากฎหมายลงโทษพรรคการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) (3) และ (4) ไม่ได้ จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่เกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 262 ให้สิทธิเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะโต้แย้งได้ หาได้ให้สิทธิพรรคไทยรักไทยที่จะโต้แย้งเรื่องดังกล่าวได้
  6. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว ย่อมมีอำนาจใช้ดุลยพินิจสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 63 วรรคสาม ได้ทันที ไม่ต้องมีคำสั่งให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการตามวรรคสองก่อน
  7. การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งถูกยกเลิกไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวนั้น หามีผลเป็นการยกเลิกความผิดที่ได้กระทำไปแล้วไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน
  8. ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยรับจ้างพรรคไทยรักไทยจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. แก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อให้ครบ 90 วัน โดยมีพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สนับสนุน และพรรคพัฒนาชาติไทยกับพรรคแผ่นดินไทย ออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคของตนอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง
  9. พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคดำเนินการเพื่อให้พรรคไทยรักไทยสามารถกลับคืนสู่อำนาจได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกล่าวหา ทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้งทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย ถือได้ว่าการกระทำของพลเอก ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคไทยรักไทย นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและการรับเงินจากพล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นผู้แทนของพรรคพัฒนาชาติไทย ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญทวีศักดิ์เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคพัฒนาชาติไทย นายบุญาบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทย รู้เห็นยินยอมให้นางฐัติมา ภาวะลี รับเงินจากพล.อ.ธรรมรักษ์ ทั้งยังออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญาบารมีภณเป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคแผ่นดินไทย
  10. การกระทำของพรรคไทยรักไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การกระทำของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  11. การกระทำของพรรคไทยรักไทยเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคไทยรักไทย ส่วนพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้ก่อตั้งหรือคณะกรรมการบริหารพรรค มิได้มีสภาพความเป็นพรรคการเมืองอยู่เลย จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคทั้งสองด้วย
  12. ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ใช้บังคับกับเหตุยุบพรรคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (1) (2) และ (3) เพราะความในมาตรา 66 (1) (2) และ (3) มีความหมายชัดเจนว่าเป็นบทบัญญัติที่ห้ามกระทำการอยู่ในตัว เมื่อพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวก็อาจถูกยุบพรรคการเมืองได้ จึงมีผลเท่ากับเป็นข้อต้องห้ามมิให้พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวนั่นเอง
  13. ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ที่ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่า บุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะแก่สภาพสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้ ประกาศ คปค. จึงมีผลบังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้
  14. การที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะเกิดเหตุลาออกจากตำแหน่งก่อนวันมีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ลบล้างผลของการกระทำที่พรรคการเมืองได้กระทำในขณะที่กรรมการบริหารพรรคผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลที่ไม่ควรจะเป็น และการบังคับเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ย่อมตกเป็นอันไร้ผล คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวได้

คณะตุลาการจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน พรรคพัฒนาชาติไทย 19 คน และพรรคแผ่นดินไทย 3 คน มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

แหล่งที่มา

WikiPedia: คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 http://www.baanjomyut.com/library/law/98.html http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/25/WW10_WW10... http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/06/WW10_WW10... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=m... http://www.komchadluek.net/2007/05/31/a001_120817....